top of page

ไทรย้อย


ไทรย้อย

ไทรย้อย ชื่อสามัญ Golden Fig, Weeping Fig, Weeping or Java Fig, Weeping Chinese Bonyan, Benjamin Tree, Benjamin's fig, Ficus tree

ไทรย้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benjamina L. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

ลักษณะของไทรย้อย

  • ต้นไทรย้อย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย อินเดีย และภูมิภาคมาเลเซีย จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือพุ่มไม้ผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกเป็นพุ่มหนาทึบและแผ่กิ่งก้านสาขาทิ้งใบห้อยย้อยลง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล กิ่งก้านห้อยย้อยลง มีลำต้นที่สูงใหญ่ ตามลำต้นจะมีรากอากาศแตกย้อยลงสู่พื้นดินเป็นจำนวนมากดูสวยงาม รากอากาศเป็นรากขนาดเล็ก เป็นเส้นสีน้ำตาล ลักษณะรากกลมยาวเหมือนเส้นลวดย้อยลงมาจากต้น รากอากาศที่มีขนาดใหญ่จะมีเนื้อไม้ด้วย

  • ใบไทรย้อย ไทรย้อยแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีลักษณะของใบที่แตกต่างกันเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่ บางต้นลักษณะของใบเป็นรูปกลมป้อม ส่วนบางพรรณก็เป็นรูปยาวรี

  • ดอกไทรย้อย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก เกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปทรงกลมคล้ายผล ออกเป็นคู่จากจ้างกิ่ง ไม่มีกลีบดอกถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ช่อดอกของไทรก็คือผลที่ยังไม่สุกนั่นเอง แต่เป็นช่อดอกที่ได้รับการออกแบบมาให้ม้วนดอกทั้งหลายกลับนอกเข้าในเพื่อทำหน้าที่พิเศษ

  • ผลไทรย้อย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรี ออกผลเป็นคู่ ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม สีน้ำตาล สีชมพู สีส้มแดง หรือสีม่วงดำเมื่อแก่ ไร้ก้าน

 

วีดีโอแนะนำ

สรรพคุณของไทรย้อย

  1. รากไทรย้อยมีสรรพคุณเป็นยาแก้กาฬโลหิต (รากอากาศ)

  2. รากอากาศมีสรรพคุณบำรุงโลหิต แก้ตกโลหิต (รากอากาศ)

  3. รากใช้เป็นยาแก้กระษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม ปวดเมื่อย โลหิตจาง) (รากอากาศ)

  4. รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ (รากอากาศ)

  5. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (รากอากาศ)

  6. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (รากอากาศ)

  7. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะให้คล่อง แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะมีสีต่าง ๆ (รากอากาศ)

  8. ช่วยแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะที่มีปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานไม่ได้ร่วมด้วย) (รากอากาศ)

  9. ช่วยแก้อาการอักเสบหรือลดการติดเชื้อ เช่น ฝีหรือรอยฟกช้ำ (รากอากาศ)

  10. ตำรายาไทยจะใช้รากไทรย้อยใน “พิกัดตรีธารทิพย์” (ประกอบไปด้วยรากไทรย้อย รากราชพฤกษ์ และรากมะขามเทศ) มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนม แก้กษัย แก้ท้องร่วง ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด (รากอากาศ)

ประโยชน์ของไทรย้อย

  1. ในป่าธรรมชาติ ต้นไทรนับเป็นที่อยู่อาศัย และผลยังเป็นแหล่งอาหารชั้นยอดของสัตว์ป่าหลายชนิด เพราะต้นไทรมีลำต้นแผ่กว้าง เต็มไปด้วยหลืบโพรง ทั้งนกนานาชนิด กระรอก ชะนี ลิง หรือแม้แต่สัตว์ใหญ่อย่าง เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ต่างก็ชอบรับประทานผลของมัน อีกทั้งต้นไทรแต่ละต้นก็ติดผลในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้ในป่าใหญ่ที่มีต้นไทรมาก ๆ จะมีผลไทรสุกไว้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เหล่านี้ได้ตลอดทั้งปี จึงช่วยทำให้เกิดสมดุลต่อระบบนิเวศทั้งในป่าและในเมืองที่ปลูก

  2. รากอากาศสามารถนำมาพันเป็นวงกลมเพื่อประดับดอกไม้แห้งเป็นพวงมาลาได้

  3. ต้นไทรย้อยนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีทรงพุ่มแผ่กว้างให้ร่มเงาได้ดี ต้องมีเนื้อที่ในการปลูกพอสมควร แต่ในปัจจุบันวงการไม้ประดับได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะย่อส่วนต้นไม้ให้มีขนาดเล็กลง การนำไม้ป่าทั้งหลายรวมทั้งไทรย้อยมาปลูกเป็นไม้ประดับจึงสะดวกมากขึ้น

  4. ด้วยความที่ตัวพุ่มของต้นไทรย้อยเป็นพุ่มแน่นทึบ ประกอบไปด้วยใบไม้เรียงซ้อนกันหลายชั้น จึงช่วยกั้นแสงแดดหรือช่วยดูดแสงแดดร้อนจัดในยามกลางวันได้ อีกทั้งพุ่มใบที่แน่นทึบยังช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก ช่วยดูดซับควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์และฝุ่นละอองได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะอย่างยิ่งในการนำมาปลูกไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม สถานที่ราชการ โรงแรม หรือแม้กระทั่งริมถนนและเกาะกลางถนน นอกจากนี้แล้วข้อดีอีกอย่างหนึ่งของต้นไทรย้อยก็คือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความแข็งแรง ทนทานง่ายต่อการดูแลรักษา ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน และสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทั่วไปอีกด้วย

  5. คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นไทรไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ทั้งปวงด้วย เพราะมีความเชื่อว่าต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพารักษ์อาศัยอยู่ จึงช่วยคอยคุ้มครองพิทักษ์คนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและปลอดภัย[4] แต่สำหรับบางคนก็เชื่อว่า ไม่ควรนำต้นไทรมาปลูกไว้ในบ้าน ไม่ใช่เพราะต้นไทรจะนำเรื่องร้ายเข้ามาในบ้านแต่อย่างใด แต่ด้วยเชื่อกันว่า ต้นไทรนั้นมีเทวดาสถิตอยู่ จึงอาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาปลูก แต่ที่แน่ ๆ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นไทรนั้นมีรากเยอะ มีรากย้อยลงมาอาจดูเกะกะ มีนกมาถ่ายมูลเรี่ยราด รากจะแทงเข้าพื้นดินและแตกแยกออกไปโดยรอบ ทำให้สิ่งก่อสร้างบ้านเรือนหรือคอนกรีตเกิดการแตกร้าวและพังทลายได้ แถมบริเวณที่ปลูกต้นไทรก็ไม่สามารถปลูกไม้ชนิดอื่นได้เลย เพราะจะถูกรากไทรแย่งอาหารไปจนหมด แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวมาว่า ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาย่อส่วนต้นไทรให้มีขนาดเล็กลงแล้ว จึงสามารถนำมาปลูกในบ้านหรือสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลแต่อย่าง

 

แหล่งอ้างอิง

ไทรย้อย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นไทรย้อยใบแหลม 15 ข้อ !.// สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2562./ จากhttps://medthai.com/ไทรย้อย/


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page