top of page

ยางนา


ยางนา ชื่อสามัญ Yang

ชื่อทางการค้า Yang, Gurjan, Garjan

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus gonopterus Turcz., Dipterocarpus incanus Roxb., Dipterocarpus philippinensis Foxw.) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)

 

วีดีโอแนะนำ

ลักษณะของยางนา

  • ต้นยางนา จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ โคนต้นมักเป็นพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลม ๆ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ ส่วนตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด

  • ใบยางนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบสอบทู่ โคนใบกว้าง ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร เนื้อใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน แผ่นใบมีขนขึ้นปกคลุม ด้านท้องใบมีขนสั้น ๆ รูปดาว ใบอ่อนมีขนสีเทา ส่วนใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปราย และมีหูใบขนาดใหญ่

  • ดอกยางนา ออกดอกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ แบบช่อกระจะ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง ดอกมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร เป็นสีชมพูอ่อน มีช่อละ 4-5 ดอก ดอกขนาดใหญ่เรียงตัวหลวม ๆ เป็นช่อห้อยลงถึง 12 เซนติเมตร ที่ก้านช่อมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมนและบิดเวียน โคนกลีบดอกชิดกัน ชั้นกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก แบ่งเป็นแฉกสั้น 3 แฉก และแฉกยาว 2 แฉก มีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้มากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์ลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียอ้วนและมีร่อง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

  • ผลยางนา ผลเป็นแผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีหลอดกลีบเลี้ยงหุ้มขนมิด ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร มีปีกขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง 2 อัน มีสีแดงอมชมพู ขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-15 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาล เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น ปักสั้น 3 ปีก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลางผลมีครีบตามยาว 5 ครีบ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.8 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนสั้นนุ่ม ที่ปลายมีติ่งแหลม ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

  • น้ำมันยางนา น้ำมันยางเป็นของเหลวข้น มีกลิ่นเฉพาะ เป็นน้ำยางที่ได้จากการเจาะโพรงเข้าไปในต้นยางนาแล้วเอาไฟลน น้ำยางจะไหลลงมาขังในแอ่งที่เจาะไว้ ซึ่งน้ำมันยางที่ได้จะเรียกว่า "Gurjun Balsam" หรือ "Gurjun oil" เมื่อนำไปกลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 70 มีองค์ประกอบเป็น alpha-gurjunene และ β-gurjunene

สรรพคุณของยางนา

  • ตำรายาไทยจะน้ำต้มจากเปลือกเป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ และใช้ทาถูนวดขณะร้อน ๆ เป็นยาแก้ปวดตามข้อ (เปลือกต้น)

  • น้ำมันยางใช้ผสมกับเมล็ดกุยช่าย (Allium tuberosum Rottler ex Spreng.) นำมาคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้เป็นยาอุดฟันแก้ฟันผุ (น้ำมันยาง)

  • เมล็ดและใบมีรสฝาดร้อน นำมาต้มใส่เกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน (เมล็ด, ใบ)

  • ใช้น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์กิน 2 ส่วน แล้วนำมารับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี หรือใช้จิบเป็นยาขับเสมหะก็ได้ (น้ำมันยาง)

  • ใบและยางมีรสฝาดขมร้อน ใช้รับประทานกินเป็นยาขับเลือด ตัดลูก (ทำให้เป็นหมัน)

  • น้ำมันยางดิบมีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ (น้ำมันยางดิบ)

  • น้ำมันยางจากต้นมีรสร้อนเมาขื่น มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล ห้ามหนอง ใช้เป็นยาทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองในและเป็นยากล่อมเสมหะ(น้ำมันยาง)

  • น้ำมันยางจากต้นสามารถนำมาใช้โดยตรงเพื่อใช้ผสมชันไม้อื่น ๆ ใช้ยาเครื่องจักสานกันน้ำรั่ว ยาแนวเรือเพื่ออุดรอยรั่ว ทาไม้ ใช้ผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือใช้ทำไต้จุดไฟส่องสว่าง (ของใช้สำหรับจุดไฟให้สว่าง หรือทำเป็นเชื้อเพลิง ทำด้วยไม้ผุหรือเปลือกเสม็ดคลุกกับน้ำมันยาง แล้วนำมาห่อด้วยใบไม้เป็นดุ้นยาว ๆ หรือใส่กระบอก)ใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ ใช้ทำน้ำมันชักเงา ฯลฯ หรือนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น สีทาบ้าน หมึกพิมพ์

ประโยนช์ของยางนา

  • น้ำมันยางเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านก็ยังมีการเก็บหากันอยู่ แต่ก็ยังไม่พอใช้จนต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มเติม

  • เนื้อไม้ยางนาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี ยิ่งเมื่อนำมาอาบน้ำยาให้ถูกต้องก็จะช่วยทำให้มีความทนทานมากขึ้นสามารถนำไปใช้กับงานภายนอกได้ทนทานนับ 10 ปี ด้วยเหตุที่ไม้ยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ เปลาตรง สูง และไม่ค่อยมีกิ่งก้าน การตัดไม้ยางนามาใช้จึงได้เนื้อไม้มาก โดยเนื้อไม้ที่ได้จะมีความแข็งปานกลาง สามารถนำมาเลื่อยไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากไม้ยางนากันมาตั้งแต่อดีต โดยนิยมนำมาเลื่อยทำเสาบ้าน รอด ตง ไม้พื้น ไม้ระแนง ไม้คร่าว โครงหลังคา ฝ้าเพดาน เครื่องเรือนต่าง ๆ ทำรั้วบ้าน ทำเรือขุด เรือขนาดย่อม แจว พาย กรรเชียง รวมไปถึงตัวถังเกวียน ถังไม้ หมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ แต่ในปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ยางนาที่สำคัญคือการนำไปทำเป็นไม้อัดและแผ่นใยไม้อัด จนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศบางส่วนด้วย

  • ลำต้นใช้ทำไม้ฟืน ถ่านไม้ไม้ยางนาจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซาส์ (Micorrhyzas) ซึ่งเป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโต โดยเชื้อราเหล่านี้จะสร้างดอกเห็ดเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของทุกปีจะมีดอกเห็ดหลายชนิดให้หาเก็บมารับประทานได้มากมาย เช่น เห็ดชะโงกเหลือง เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดยาง เป็นต้น

ฐานข้อมุล WEB OPAC (คลิก)
 

แหล่งอ้างอิง

ยางนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยางนา 27 ข้อ !.// สืบค้นเมื่อ 6กันยายน 2562 ,/

จาก : https://medthai.com/ยางนา/


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page