ดาวกระจาย
ชื่อสมุนไพร ดาวกระจาย ชื่อวิทยาศาสตร์ .Bidens bipinnata L. ชื่อวงศ์ ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE ชื่อสามัญ Spanish needle ชื่ออื่นๆ อกกระจาย (ไทย), แหลมนกไส้ หญ้าแหลมนกไส้ ปืนนกไส้ (ภาคเหนือ), ปังกุกโคหน่วย (จีน), กุ่ยเจินเฉ่า ผอผอเจิน (จีนกลาง) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นดาวกระจาย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของลำต้นได้ประมาณ 25-85 เซนติเมตร กลางลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมและมีขนเล็กน้อย ส่วนโคนต้นเป็นสีม่วงและไม่มีขนปกคลุม กิ่งก้านมีลักษณะเป็น 4 เหลี่ยม โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบขึ้นได้ตามที่รกร้างทั่วไปในชนบท
ใบดาวกระจาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ปลายใบคี่ ตรงส่วนของดอกช่อใบเป็นใบเดี่ยวและปลายใบจะแหลมกว่าใบอื่น ๆ ช่อใบมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน 2-3 ซี่ ใบเป็นสีเขียว เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบมีขนขึ้นประปราย
ดอกดาวกระจาย ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสด มีริ้วประดับลักษณะเป็นรูปหอกเรียงกันเป็นวง มีวงนอกและวงใน เมื่อเวลาที่ดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ดอกวงนอกเป็นหมัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ ส่วนดอกวงในนั้นเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปท่อ ปลายมี 5 แฉก มีก้านดอกยาวประมาณ 1.8-8.5 เซนติเมตร
ผลดาวกระจาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงแคบ มีสันประมาณ 3-4 สัน ผลค่อนข้างแข็ง มีรยางค์เป็นหนามยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
สรรพคุณ
1.ทั้งต้น (มีรสขม เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ) - ช่วยกระจายลม ฟอกโลหิต ยาสุขุม ไม่มีพิษ โดยออกฤทธิ์ต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับและไต ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ ลำคอปวดบวม ยาแก้ท้องร่วง แก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดกระเพาะ ช่วยแก้ฝีในลำไส้ ช่วยแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน ไตอักเสบ
2. แก้บิด นำต้นสดประมาณ 30-70 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำตาลเล็กน้อยแล้วใช้รับประทาน
3.ยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงูกัด ยารักษาบาดแผล โดยการนำต้นสดมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนกากที่เหลือให้นำมาพอกบริเวณที่เป็น
4.ช้แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-70 กรัม นำมาตำให้แหลก ต้มกับน้ำผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้รับประทานวันละ 1 ครั้ง
5.บเป็นยาแก้อาการท้องร่วง ยารักษาบาดแผล
ข้อควรระวัง สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
แหล่งอ้างอิง
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร
ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/
Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/