top of page

ทานตะวัน


ชื่อสมุนไพร ทานตะวัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus L.

ชื่อสามัญ Sunflower.

วงศ์ Asteraceae (Compositae)

ชื่ออื่น บัวตอง (ภาคเหนือ) ชอนตะวัน (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดและเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 3-3.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นสีเขียวแกนแข็ง ไม่มีการแตกแขนง (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ตามต้นมีขนยาวสีขาวค่อนข้างแข็งปกคลุมตลอด ส่วนรากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 150-270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงและแผ่ขยายไปทางด้านข้างได้ถึง 60-150 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการค้ำจุนต้นและสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใบทานตะวัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามได้ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน โดยจำนวนของใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือกลมเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปหัวใจ และสีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม (แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์) ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบหยาบและมีขนสีขาวทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัดเพราะเป็นไม้กลางแจ้ง

ดอกทานตะวัน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีขนาดใหญ่เป็นสีเหลืองเข้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีกลีบดอกเป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีเหลืองสด ส่วนด้านในคือช่อดอก มีลักษณะเป็นจาน ประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลางดอกมีเกสรสีน้ำตาลอมสีม่วงและภายในมีผลจำนวนมาก ดอกมีเกสรเพศเมียอยู่ตรงกลาง 1 อัน ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว

ผลทานตะวัน (หรือโดยทั่วไปเรียกว่า "เมล็ดทานตะวัน") ผลเป็นผลแห้งและมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก ผลขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ใกล้กับกึ่งกลางจะมีขนาดเล็ก ผลมีลักษณะเป็นรูปรีและแบนนูน ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งแหลม ผลมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มผลแข็ง เปลือกผลเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำและเป็นลาย ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อนเพียง 1 เมล็ด ลักษณะรียาว และในเมล็ดพบว่ามีน้ำมันเป็นจำนวนมาก โดยผลหรือเมล็ดทานตะวันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เมล็ดที่ใช้สกัดทำน้ำมัน (ผลเล็ก สีดำ เปลือกบาง), เมล็ดที่ใช้กิน (ผลใหญ่ เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด) และเมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกหรือไก่

สรรพคุณ

1.แกนต้น - ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่นขาว ไอกรน แผลมีเลือดออก

2.ดอก - ขับลม ทำให้ตาสว่าง แก้วิงเวียน หน้าบวม บีบมดลูก

3.ใบ, ดอก - แก้หลอดลมอักเสบ

4.ฐานรองดอก - แก้อาการปวดหัว ตาลาย ปวดฟัน ปวดท้อง โรคกระเพาะ ปวดประจำเดือน ฝีบวม

5.เมล็ด - แก้บิด มูกเลือด ขับหนองใน ฝีฝักบัว ขับปัสสาวะ เสมหะ แก้ไอ แก้ไข้หวัด

6.เปลือกเมล็ด - แก้อาการหูอื้อ

7.ราก - แก้อาการปวดท้อง แน่นหน้าอก ฟกช้ำ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ

ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์

 

แหล่งอ้างอิง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร

ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/

Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page