top of page

ผักหูเสือ


ชื่อสมุนไพร หูเสือ

ชื่ออื่นๆ เนียมหูเสือ (ภาคกลาง) หอมด่วนหลวง หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ) ผักฮ่านใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ Coleus amboinicus Lour.

ชื่อพ้อง Coleus aromaticus Benth., C. carnosus Hassk., C. crassifolius Benth., C. subfrutectosus Summerh. , C. suborbicularis Zoll. & Moritzi, C. suganda Blanco, C. vaalae (Forssk.) Deflers, Majana amboinica (Lour.) Kuntze, M. carnosa (Hassk.) Kuntze, M. suganda (Blanco) Kuntze, Ocimum vaalae Forssk., Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ชื่อวงศ์ Lamiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก อายุ 2-3 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม ต้นอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ขนจะค่อยๆหลุดร่วงไป ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบรูปไข่กว้างค่อนข้างกลม หรือรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร ใบขยี้ดมมีกลิ่นหอมฉุน ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบๆใบ ใบหนา อวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร อยู่ตามปลายกิ่งหรือยอด ดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะๆ มีขน ช่อหนึ่งๆ มีดอกประมาณ 6-8 ดอก ทยอยบานทีละ 1-2 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีม่วงขาว รูปเรือ ยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง มีขน กลีบล่างยาว เว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนรูปไข่กว้าง ปลายแหลม แฉกข้างๆ รูปหอกแคบ แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น ผล มีเปลือกแข็ง เล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ กว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป

สรรพคุณ 1. ตำรายาไทย ใบ และต้น มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน นำมาคั้นเอาน้ำหยอดแก้ฝีในหู แก้ปวดหู พิษฝีในหู หูน้ำหนวก ปิดห้ามเลือด ขยี้ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้หวัดในเด็ก และแก้โรคหืด ใบ บำรุงร่างกาย แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ แก้ลมชักบางประเภท ต้มน้ำกินแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา ยางจากใบ ผสมกับน้ำตาลกินขับลม แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะแก้ปวด ลดไข้ แก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด แก้หิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ขยี้ทาห้ามเลือด คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง หรือนำไปทำยานัตถุ์เพราะมีกลิ่นหอม ใส่ยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง และอมดับกลิ่นคาวอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อน รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ หรือใส่แกง

2.ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ใบ ขยี้ดม แก้หวัด คัดจมูก หรือรับประทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหาร

 

แหล่งอ้างอิง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร

ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/

Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page