กำลังเสือโคร่ง
ชื่อสมุนไพร กำลังเสือโคร่ง ชื่ออื่นๆ ขวากไก่ หนามเข็ม (ชัยภูมิ) ขอเบ็ด (หนองคาย) ขี้แรด (ปราจีนบุรี) เขี้ยวงู (ชุมพร) ตึ่ง เครือดำตัวแม่ (ลำปาง)เบน เบนขอ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เล็บครุฑ (จันทบุรี) เล็บรอก (พัทลุง) หมากตาไก้ (เลย) ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos axillaris Colebr. ชื่อวงศ์ Strychnaceae (Loganiaceae) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้เถาขนาดใหญ่ ลำต้นสีเขียวอมเทาถึงน้ำตาล หรือน้ำตาลอมดำ กลมหรือเป็นเหลี่ยม ไม่มีช่องอากาศ มีหนามที่ง่ามใบ มือจับอันเดียว มีขน ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม แผ่นใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ถึงค่อนข้างกลม รูปใบหอก ถึงรูปไข่ กว้าง 1-5.8 เซนติเมตร ยาว 1.5-11 เซนติเมตร โคนใบแหลมถึงตัด หรือเว้าเล็กน้อยรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน บาทีเป็นติ่ง หนาม แผ่นใบหนา เกลี้ยง หรือมีขนสั้นตามเส้นกลางใบ และตามโคนเส้นแขนงใบ มีเส้นตามยาวของใบ 3-5 เส้น เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน หูใบเป็นแนวนูน เกลี้ยง หรืออาจมีขน ก้านใบยาว 1-10 มิลลิเมตร ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ยาว 5-20 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกสั้นมาก หรือยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร มีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 0-2.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ถึงกลม ยาว 0.9-1.7 มิลลิเมตร ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีเขียวถึงขาว มี 5 กลีบ ยาว 2.3-3.6 มิลลิเมตร โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก หลอดยาวกว่าแฉกสองเท่า ด้านนอกเกลี้ยง มีขน หรือเป็นตุ่มๆ ด้านในมักจะมีขนเป็นวงอยู่ตรงปากหลอด นอกนั้นเกลี้ยง แฉกหนา เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่ใกล้ปากหลอดดอก ยื่นยาวออกมาพ้นปากหลอด ก้านเกสรยาว 0.2-0.6 มิลลิเมตร อับเรณูรูปไข่ ยาว 0.6-0.9 มิลลิเมตร มีขนแผง และมักจะมีติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลทรงกลม หรือทรงรูปไข่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร สีเขียว สุกสีส้มหรือแดง เปลือกบาง เรียบ มี 1-2 เมล็ด พบขึ้นได้ในป่าดงดิบแล้ง ป่าละเมาะ และป่าโปร่งทั่วไป
สรรพคุณ 1. ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย 2.ตำรายาไทย ใช้ ราก ตำพอกแก้ฝี แก้ริดสีดวงลำไส้ ลำต้น แก้โลหิตเป็นพิษในการคลอดบุตร บาดทะยักปากมดลูก และสันนิบาตหน้าเพลิง แก้ปอดพิการ แก้ไอ ดับพิษในข้อในกระดูก เส้นเอ็น แก้พิษตานซาง ขับพยาธิในท้อง แก้กามโรค แก้เถาดานในท้อง แก่น บำรุงโลหิต ดับพิษไข้ แก้กระษัย ไตพิการ ปัสสาวะพิการ ใบ แก้โรคผิวหนัง ใช้อาบลูกดอก และแก้อัมพาต เปลือกต้น แก่น และใบ รสเฝื่อน ต้มดื่มแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้เข้าข้อ
แหล่งอ้างอิง
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร
ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/
Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/