top of page

ว่านหางจระเข้


ว่านหางจระเข้

ชื่อสมุนไพร ว่านหางจระเข้

ชื่ออื่นๆ ว่านไฟไหม้ (เหนือ) หางตะเข้ (ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe vera (L.) Burm.f.

ชื่อพ้อง Aloe barbadensis Mill., A. chinensis Steud. ex Baker, A. elongata Murray, A. flava Pers., A. indica Royle, A. lanzae Tod., A. perfoliata var. barbadensis (Mill.) Aiton, A. perfoliata var. vera L., A. rubescens DC., A. vulgaris Lam.

ชื่อวงศ์ Aloaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นสั้น ใบเรียงซ้อนเป็นกอ ข้อและปล้องสั้น สูงประมาณ 0.5-1 เมตร ต้นแก่จะมีหน่อเล็กๆของต้นอ่อนแตกออกมา ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่รอบต้น กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 30-80 เซนติเมตร ใบรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกว้าง สีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม ด้านหน้าแบน ด้านหลังโค้งนูน ใบอ่อนมีประสีขาว ขอบใบมีหนามแหลมเล็กขึ้นห่างๆกัน ผิวใบหนา เนื้อใบหนาอวบน้ำมาก ภายในเนื้อใบมีวุ้นใสเป็นเมือก เมื่อกรีดลงไปบริเวณโคนใบจะมีน้ำยางใสสีเหลืองไหลออกมา ดอกออกเป็นช่อตั้งยาว 60-90 เซนติเมตร แทงช่อออกจากกลางต้น ก้านชูช่อดอกยาว ดอกย่อยเป็นหลอดห้อยลง รูปแตร กลีบดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ดอกสีส้มไม้ล้มลุกอ่อน บานจากล่างขึ้นบน แต่ละดอก กว้าง 7 มิลลิเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร ผล เป็นผลแห้ง แตกได้ รูปกระสวย ว่านหางจระเข้เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา แต่มีการนำมาปลูกในประเทศเขตร้อนทั่วไป

สรรพคุณ

1.ตำรายาไทย วุ้นใสจากใบสด รสจืดเย็น ใช้ภายนอก รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลสด แผลอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อฝีหนอง ลดการอักเสบร้อนแดงของผิวหนัง ลดรอยแผลเป็น รักษาอาการอักเสบของผิวหนังจากสิว ฝ้า แผลถลอก แผลถูกของมีคม ทาผิวป้องกันและรักษาอาการไหม้จากแสงแดดหรือรังสี เหน็บทวารรักษาริดสีดวงทวาร ฝานวุ้นให้กลมทาปูนแดงนำมาปิดขมับทำให้เย็นดูดพิษแก้ปวดศีรษะ วุ้นจากใบสดเป็นยาเย็นใช้ชโลมเส้นผม ทำให้ผมดกเงางาม และเส้นผมสลวย เนื่องจากทำให้รากผมเย็น เร่งการงอกของผม และรักษาแผลบนหนังศีรษะ ใช้ภายใน วุ้นใสรับประทานรักษาโรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ดูดพิษร้อนภายในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้อาการปวดตามข้อ ทั้งต้น รสเย็นเอียน ดองสุราดื่มขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ราก รสขมขื่น กินถ่ายโรคหนองใน แก้มุตกิด ช้ำรั่ว น้ำยางสีเหลืองจากใบ เคี่ยวให้แห้งเรียกว่า “ ยาดำ “ มีรสเบื่อ และเหม็นขม ใช้กินเป็นยาถ่ายยาระบายที่ออกฤทธิ์แรงมากควรใช้ในปริมาณที่น้อยมาก

 

แหล่งอ้างอิง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร

ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/

Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page