ลีลาวดี
ชื่อสมุนไพร ลีลาวดี ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumeria spp. ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE ,RAUVOLFIOIDEAE ชื่อสามัญ Plumeria, Frangipani, Temple tree ชื่ออื่นๆ จำปา, จงป่า (กาญจนบุรี), จำปาลาว (ภาคเหนือ), จำปาขาว (ภาคอีสาน), จำปาขอม (ภาคใต้), ไม้จีน (ยะลา), มอยอ (นราธิวาส), จำไป (เขมร) เป็นต้น โดยเป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเพราะออกดอกตลอดปี เลี้ยงดูง่าย และสีของดอกลีลาวดีนั้นยังมีสีสันสดใส สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น ขาว เหลืองอ่อน ชมพู แดง ฯลฯ ซึ่งบางดอกอาจจะมีมากกว่า 1 สีก็ได้ และดอกลั่นทมยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาวอีกด้วย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้น เป็นไม้ยืนต้น มีขนาดตั้งแต่พุ่มเตี้ยแคระสูงประมาณ 0.9-1.2 เมตร จนถึงต้นที่สูงมาก อาจสูงถึง 12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสขาและพุ่มใบสวยงาม มีน้ำยางสีขาวข้น เป็นไม้ผลัดที่สลัดใบในฤดูแล้งก่อนที่จะผลิดอกและผลิใบรุ่นใหม่ กิ่งที่ยังไม่แก่มีสีเขียว อ่อนนุ่ม ดูเกือบจะอวบน้ำ กิ่งแก่มีสีเทามีรอยตะปุ่มตะป่ำ กิ่งไม่สามารถทานน้ำหนักได้ กิ่งเปราะ เปลือกลำต้นหนา ต้นที่โตเต็มที่แล้วจะพัฒนาจนกระทั่งมีความแข็งแรงมากขึ้น ใบ เป็นใบเดี่ยว มีการเรียงตัวแบบสลับและหนาแน่นใกล้ปลายกิ่ง มีลักษณะแตกต่างกันไปทั้งรูปร่าง ขนาด สี และความหนาแน่น โดยทั่วไป ใบจะหนา เหนียวแข็ง และมีสีตั้งแต่สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม มีเส้นกลางใบแตกสาขาออกไปคล้ายขนนก ขนาดใบแตกต่างกัน ช่อดอก ดอกจะผลิออกมาจากปลายยอดเหนือใบ เห็นเป็นช่อดอกใหญ่สวยงาม แต่ก็มีบางชนิดที่ออกช่อดอกระหว่างใบ หรือใต้ใบ บางชนิดห้อยลงบางชนิดตั้งขึ้น ในหนึ่งช่อจะมีดอกบานพร้อมกัน 10 – 30 ดอก บางต้นที่มีความสมบูรณ์เต็มที่อาจมีดอกมากกว่า 100 ดอก ต่อ 1 ช่อ ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน บางพันธุ์สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอก โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่ถึงกลาง ยกเว้นบางพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย อยู่ลึกเข้าไปข้างใน ดอกมีลักษณะคล้ายท่อ ทำให้มองไม่เห็นเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย โดยจะมีเกสรตัวผู้ 5 อัน อยู่ที่โคนก้านดอก ส่วนเกสรตัวเมียอยู่ลึกลงไปในก้านดอก เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบานไม่พร้อมกัน ยากต่อการผสมตัวเอง ฝัก/ผล มีลักษณะคล้ายกับฝักต้นชวนชม ฝักอ่อนสีจะมีสีเขียวเมื่อแก่ฝักจะมีสีแดงถึงดำ
สรรพคุณ 1.ต้น ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคลำไส้พิการของม้า 2.ใบ ใบแห้งชงน้ำร้อนดื่มรักษาโรคหอบหืด ใบสดลนไฟประคบร้อนแก้ปวด บวม 3.ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไอ (เนื้อไม้) 4.ช่วยถ่ายเสมหะและโลหิต (ยางและแก่น) 5.ช่วยขับเหงื่อ แก้ร้อนใน (ราก)
แหล่งอ้างอิง
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร
ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/
Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/