บัวหลวง
ชื่อสมุนไพร บัวหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera Gaertn. ชื่อวงศ์ Nelumbonaceae ชื่อสามัญ Lotus, Sacred lotus, Egyptian lotus ชื่ออื่นๆ โกกระณต, บัว, บัวอุบล, บัวฉัตรขาว, บัวฉัตรชมพู, บัวฉัตรสีชมพู, บุณฑริก, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบงกช, สัตตบุษย์, โช้ค (เขมร) เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้นบัวหลวง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ ลักษณะของเหง้าเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลือง มีความแข็งเล็กน้อย หากตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูปกลม ๆ อยู่หลายรู โดยส่วนของไหลจะเป็นส่วนเจริญไปเป็นต้นใหม่ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ในระดับน้ำลึก 30-50 เซนติเมตร และสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือวิธีการแยกไหล มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ใบบัวหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนจะลอยปริ่มน้ำ ส่วนใบแก่แผ่นใบจะชูขึ้นเหนือน้ำ ลักษณะของใบเป็นรูปเกือบกลมและมีขนาดใหญ่ โดยมีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนเป็นนวลเคลือบอยู่ ก้านใบจะติดอยู่ตรงกลางของแผ่นใบ ก้านใบมีลักษณะแข็งและเป็นหนาม หากตัดตามขวางจะเห็นรูอยู่ภายใน และก้านใบจะมีน้ำยางสีขาว เมื่อหักก้านจะมีสายใยสีขาว ๆ สำหรับใบอ่อนจะเป็นสีเทานวล ปลายจะม้วนงอขึ้นเข้าหากันทั้งสองด้าน ดอกบัวหลวง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว มีสีขาว สีชมพู มีกลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กและสีขาวอมเขียวหรือเป็นสีเทาอมชมพู ร่วงได้ง่าย ส่วนกลีบดอกจะมีจำนวนมากและเรียงซ้อนกันอยู่หลายชั้น ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 20-25 เซนติเมตร ในดอกจะมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และล้อมรอบอยู่บริเวณฐานรองดอกซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกรวยหงาย หรือที่เรียกว่า "ฝักบัว" ที่ปลายอับเรณูจะมีระยางคล้ายกระบองเล็ก ๆ สีขาว ส่วนเกสรตัวเมียจะมีรังไข่ฝังอยู่ในฐานรองดอก เมื่ออ่อนเป็นสีเหลือง หากแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ช่องรังไข่จะเรียงเป็นวงบนผิวหน้าตัด มีจำนวน 5-15 อัน ส่วนก้านดอกมีสีเขียว ลักษณะยาวและมีหนามเหมือนก้านใบ โดยก้านดอกจะชูขึ้นเหนือน้ำและชูขึ้นสูงกว่าก้านใบเล็กน้อย ดอกบัวหลวงจะเริ่มบานในตอนเช้า โดยจะออกดอกและผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม (ดอกมีสารอัลคาลอยด์ (alkaloids) ชื่อ nelumbine ส่วน Embryo มี lotusine ส่วนเกสรมีสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, isoquercitrin, luteolin, luteolin glucoside และยังพบว่ามีสารอัลคาลอยด์ด้วย) ฝักบัวหลวง ในฝักมีผลอ่อนสีเขียวนวลจำนวนมาก ผลจะฝังอยู่ในส่วนที่เป็นฝักรูปกรวยในดอก ในรูปกรวยของดอกนั้นเมื่ออ่อนจะเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วจะขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว โดยจะมีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่ในฝักรูปกรวยเป็นจำนวนมาก ผลบัวหลวง หรือ เมล็ดบัวหลวง ออกผลเป็นกลุ่มหรือที่เรียกว่าฝัก ลักษณะผลเป็นรูปกลมรี ผลอ่อนมีสีเขียวนวลและมีจำนวนมาก เมล็ดมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในเมล็ดมีดีบัวหรือต้นอ่อนที่ฝังอยู่กลางเมล็ดมีสีเขียว (เมล็ดมีสารอัลคาลอยด์ (alkaloids) และ beta-sitosterol ดีบัวหลวง คือ ส่วนของต้นอ่อนที่อยู่ในเม็ดบัวหลวง ดีบัวมีลักษณะคล้ายสาก มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร มีใบอ่อน 2 ใบ ใบหนึ่งสั้น ส่วนอีกใบยาว ใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายใบมีลักษณะม้วนเป็นรูปคล้ายลูกศร มีต้นอ่อนตรง ขนาดเล็กมากอยู่ระหว่างใบอ่อนทั้งสอง มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนต้นมีสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เนื้อหนาเปราะ ร้อนหน้าตัดจะมีรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ดีบัวมีรสขมจัด แต่ไม่มีกลิ่น (ดีบัวมีสารในกลุ่มอัลคาลอนด์อยู่หลายชนิด เช่น Demethylcoclaurine, Isoliensinine, Liensinine, Lotusine, Methyl corypalline, Neferine, Nuciferine, Pro Nuciferine และยังมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น Galuteolin, Hyperin, Rutin)
สรรพคุณ 1.รากและเม็ดบัวมีรสหวานเย็นและมันเล็กน้อย ช่วยบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง (ราก, เม็ดบัว,ดอก) 2.ช่วยบำรุงร่างกาย แก้กษัย (เม็ดบัว,ใบอ่อน, กลีบดอก) 3.ช่วยบำรุงโลหิต (เม็ดบัว,ใบแก่,) 4.ช่วยลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันในเส้นเลือด ด้วยการใช้ใบสดหรือแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยต้มกับน้ำพอท่วมจนเดือดประมาณ 10-15 นาที ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง โดยให้ดื่มติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน และตรวจวัดความดันเป็นระยะพร้อมทั้งสังเกตอาการ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ปวดท้ายทอย หากดื่มแล้วความดันโลหิตลดลงก็ต้องหมั่นตรวจวัดความดันอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตอาการดังกล่าวไปด้วย ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกควรรีบไปพบแพทย์ (ใบ) หรือจะใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม ก็มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยขยายเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจในกรณีที่เส้นเลือดตีบ (ดีบัว) 5.เม็ดบัวมีคุณค่าทางอาหารสูง ช่วยเพิ่มพลังงานและไขมันในร่างกาย จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยใหม่ ๆ ที่ยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่ หรือใช้เป็นอาหารบำรุงกำลังของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง มีอาการอ่อนเพลีย หรืออาเจียน (เม็ดบัว) หรือจะใช้รากต้มเป็นน้ำกระสายดื่มแก้อาการอ่อนเพลียก็ได้ (ราก) ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย (เม็ดบัว)
แหล่งอ้างอิง
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2557).ฐานข้อมูลสมุนไพร
ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://herbalbank.kku.ac.th/
Medthai. (2562).เครื่องมือค้นหาสมุนไพร. ค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562,จาก https://medthai.com/search/